รู้จักบ้าน เข้าใจแบบ ดูแปลนบ้านให้ออก ก่อนคิดสร้างบ้าน

525 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จักบ้าน เข้าใจแบบ ดูแปลนบ้านให้ออก ก่อนคิดสร้างบ้าน

สำหรับใครที่คิดจะสร้างบ้านเอง สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องศึกษาก็คือการดูแบบแปลนบ้านเบื้องต้น เพื่อที่จะเข้าใจถึงรายละเอียดของบ้าน โดยแบบก่อสร้างบ้าน แบบแปลนหรือพิมพ์เขียวก่อสร้างบ้านนั้น ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้ออกแบบซึ่งเป็นสถาปนิก ได้จัดทำขึ้น ร่วมกับวิศวกร และส่งต่อไปยังผู้รับเหมาเพื่อใช้ในการก่อสร้าง
โดยบ่อยครั้งระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับแบบแปลนบ้านเจ้าของบ้านจะพบกับศัพท์เทคนิคสำหรับการสร้างบ้านมากมาย ทำให้ไม่ทราบถึงรายละเอียดของบ้านก่อนสร้างอย่างชัดเจน
ดังนั้นหากคิดจะสร้างบ้าน เบื้องต้นก็ควรดูแบบบ้านให้เป็น อย่างน้อย ๆ ต้องทราบถึงรายละเอียดของโครงสร้าง และแบบก่อสร้างเพื่อที่จะได้ทราบถึงรายละเอียดของบ้านก่อนลงมือให้ผู้รับเหมาสร้าง
ในปัจจุบันสำหรับการดูแบบแปลนบ้านให้ออกนั้น อันดับแรกเจ้าของบ้านควรทราบและทำการรู้จักกับส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้าน แบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมไฟฟ้า และแบบวิศวกรรมสุขาภิบาล รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎในแบบแปลนบ้าน
ส่วนประกอบของการสร้างบ้านที่พักอาศัย
การจะดูแบบแปลน หรือ พิมพ์เขียวในการสร้างบ้านให้ออก จะต้องรู้จักกับส่วนประกอบในการสร้างบ้านเบื้องต้น ซึ่งประกอบไปด้วย 12 ส่วนประกอบหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้

1. เสาเข็ม
เสาเข็มถือเป็นส่วนประกอบแรกของบ้าน เนื่องจากเป็นการก่อสร้างก่อนส่วนอื่นๆ โดยปัจจุบันจะใช้รถแบคโฮลในการตอกเสาเข็มลงพื้นแทนการตอกโดยใช้แรงคน ซึ่งจะรวดเร็วและมีความแน่นหนาคงทนกว่า ส่วนใหญ่แบบบ้านจะใช้วัสดุเสาเข็มหลากหลายประเภทตามแบบบ้าน อาทิ เสาเข็มไม้ และเสาเข็มคอนกรีต
– เสาเข็มไม้
เสาเข็มไม้จะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรับน้ำหนักได้มาก หากต้องปลูบ้านไม้ขนาดใหญ่ ก็จะใช้เทคนิคปักเสาเข็มหลาย ๆ ต้นรวมกันเพื่อให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น ดังนั้น เสาเข็มไม้จึงนิยมใช้กับบ้านหลังเล็ก ๆ หรือบ้านชั้นเดียว
– เสาเข็มคอนกรีต
เสาเข็มคอนกรีตคือเสาเข็มที่ได้รับความนิยมในการสร้างบ้านที่มีขนาดใหญ่หรือสูงมากกว่าสองชั้น เพราะมีความแข็งแรงทน ทานและมีความยาว ซึ่งในกรณีพิเศษบนสถานที่ที่มีการก่อสร้างยาก ที่แคบ ที่ไม่สะดวกในการตอกเสาเข็ม ก็มีเสาเข็มคอนกรีตแบบเข็มเจาะที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบอื่น ๆ เป็นตัวเลือก


2. ฐานราก
ฐานรากคือแผ่นคอนกรีตที่หล่อทับหัวเสาเข็มที่ฝังลงพื้นดินไปแล้ว จะเป็นการวางฐานรากแบบตื้นเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับเสาเข็ม หรือในกรณีที่พื้นที่นั่นมีเนื้อดินที่มีเนื้อแข็ง มีความหนาแน่นสูง มีความแข็งแรงพอจะรองรับน้ำหนักของตัวบ้านได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสาเข็มช่วยในการรับน้ำหนักก็ได้
แต่ต้องมั่นใจว่าชั้นดินมีความแน่นอย่างเหมาะสม ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาการทรุดตัวได้ โดยฐานราก เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดประมาณ 0.80-1.20 เมตร สำหรับบ้าน 2 ชั้นทั่วไป มีความหนาไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร

3. ตอม่อ
เสาส่วนที่ตั้งบนฐานราก ขึ้นมารับคานพื้นชั้นล่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในดิน ทำหน้าที่เหมือนกับเสา ทุกประการ ต่างกันเพียง ตำแหน่งที่ตั้งเท่านั้น โดยตำแหน่งที่ตั้งในจุดนี้ทำให้ตอม่อเป็นตัวที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักบ้านต่อจากตัวอาคารเหนือพื้นดินแล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากต่อไป และเป็นตัวปรับระดับความสูง-ต่ำของระดับพื้นบ้าน ให้ได้ตามระดับที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
โดยทั่วไปเสาตอม่อจะจมอยู่ใต้ดิน เมื่อทำฐานรากและเสาตอม่อเรียบร้อยแล้ว จึงทำการถมดินฐานราก ปรับระดับ เพื่อทำการก่อสร้างคาน พื้น เสา ซึ่งเป็นโครงสร้างเหนือพื้นดินกันต่อไป

4. คาน
คาน ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากตง (ส่วนรับน้ำหนักให้กับคาน) เพื่อถ่ายลงเสา โดยส่วนใหญ่โครงสร้างของคานจะทำการออกแบบจากวิศวกร เพราะต้องทำการคำนวณค่าแฟคเตอรต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย ยิ่งบ้านสูงมากก็ต้องยิ่งมีการคำนวณแรงลม การบิดตัว หรือป้องกันแผ่นดินไหว
โดยปัจจุบันสามารถใช้วัสดุได้หลายประเภทไม่ว่าจะเป็น คานไม้ คานคอนกรีต หรือคานเหล็ก ปกติคานจะเป็นส่วนที่ติดกับเสา ขนาดของคานนั้นจะต้องสัมพันธ์กับเสา ซึ่งก็อยู่ในการคำนวณทางวิศวกรรมเช่นกัน ถ้าช่วงเสาห่างกันมากก็จะต้องทำคานให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรับน้ำหนักมากขึ้น และนอกจากนั้นกำลังรับน้ำหนักของคานนั้น ยังขึ้นอยู่กับความหนาและความลึกของคานด้วย

5. พื้น
พื้นบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ที่รองรับน้ำหนักของการอยู่อาศัย เพื่อถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาและฐานราก การก่อสร้างบ้านในปัจจุบันนิยมใช้โครงสร้างพื้นด้วยกัน 2 ประเภท คือ พื้นไม้และพื้นคอนกรีต โดยพื้นไม้ จะเป็นพื้นเรียบโดยวางทอดไปตลอดเพื่อรับน้ำหนัก และถ่ายลงสู่ตง เพื่อช่วยรับน้ำหนักอีกต่อหนึ่ง ซึ่งพื้นไม้ทั่วไปจะใช้วัสดุเป็นไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้มะค่า ไม้แดง
ส่วนพื้นคอนกรีตถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีราคาต้นทุนถูกกว่าโครงสร้างพื้นไม้ และยังสามารถตกแต่งพื้นปูนได้หลากหลายรูปแบบด้วยการปูกระเบื้องทับ ทำให้สามารถดูแลทำความสะอาดง่าย ไม่เสี่ยงต่อปลวก และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างพื้นในเวลาไม่นานมาก

วิธีตรวจโครงสร้างบ้านง่าย ๆ
วิธีตรวจโครงสร้างบ้านง่าย ๆ ด้วย 4 ขั้นตอน เรื่องต้องทำก่อนบ้านทรุด
6. เสา
เสาถือเป็นหนึ่งส่วนที่สำคัญของบ้าน นอกจากช่วยถ่ายน้ำหนักจากคานบ้าน เสายังเป็นแกนที่รับน้ำหนักจากโครงสร้างส่วนอื่น ๆ พวกถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานราก
ดังนั้น เสาคือสิ่งที่คนที่คิดจะสร้างบ้านจะต้องรู้จัก หากตำแหน่งของเสาไม่ถูกต้อง วัสดุที่ใช้ไม่มีความแข็งแรง วางเสาถี่เกินไป ก็อาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านภายหลังได้ ถึงแม้ตัวเจ้าของบ้านเองจะไม่รู้ลึกถึงวิธีการคำนวณการรับน้ำหนัก แต่ถ้ารู้องค์ประกอบบ้านก็สามารถสอบถามวิศวกรได้โดยตรงหากสงสัยในจุดนี้

7. โครงหลังคา
ในปัจจุบันโครงหลังคาจะใช้วัสดุในการก่อสร้างหลัก ๆ 2 ได้แก่ โครงไม้ กับ โครงเหล็ก ส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กหรือตัวย่อ คสล. ที่เราคุ้น ๆ หูกันและใช้ในโครงสร้างบันไดบ้านบ่อยนั้น ก็สามารถเอามาทำโครงหลังคาได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับโครงสร้างบ้านใหญ่ ๆ
ในอดีตโครงหลังคาส่วนใหญ่จะใช้ไม้เป็นหลัก แต่ด้วยความที่ไม้มีราคาสูงขึ้นทุกวัน ๆ จึงมีการก่อสร้างที่นำโครงเหล็กแบบดั้งเดิมมาใช้ ซึ่งสามารถก่อสร้างและทำงานได้รวดเร็วกว่าโครงไม้ และประหยัดกว่า แต่ก็ยังมีข้อเสีย อาทิ การติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน มีน้ำหนักมาก และสิ้นเปลืองวัสดุ มีการผุกร่อนของเหล็ก แม้จะทาสีกันสนิมแล้วก็ตาม

8. วัสดุมุงหลังคา
วัสดุมุงหลังคาก็คือกระเบื้องมุงหลังคา วัสดุตรงนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้โครงสร้างบ้านส่วนอื่น ๆ หลายคนคงเคยเห็นบ้านที่มีการผุผังของหลังคาบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพายุฝน หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ก็ตาม
ดังนั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีของวัสดุมุงหลังคาจึงมีการผลิตกระเบื้องที่มีความทนทานกว่ากระเบื้องลอนที่นิยมใช้ในอดีต หรือที่เรียกกันว่า "กระเบื้องโมเนีย"
กระเบื้องโมเนียเป็นกระเบื้องซีเมนต์ มีความหนากว่ากระเบื้องลอน ลักษณะของกระเบื้องโมเนียจะมีความยาวไม่จำกัด จึงไม่มีรอยต่อของแผ่น ตัดปัญหาการรั่วซึมได้ และน้ำหนักเบา เหมาะกับบ้านแบบโมเดิร์น ที่ต้องการหลังคาแบนๆแบบตะวันตก และไม่ต้องโชว์ตัวหลังคา


9. ฝ้าชายคา
ฝ้าชายคาเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จำทำให้บ้านดูเป็นบ้านมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันฝ้าชายคามีวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ที่เขามาซัปพอร์ตสมรรถภาพของฝ้าชายคาให้ดียิ่งขึ้น ก็คือฉนวนกันความร้อน ซึ่งสามารถพบได้ตามโครงการบ้านจัดสรรทั่วไปในปัจจุบันแล้ว
โดยหากใครที่จะสร้างบ้านแล้วทราบดีว่าวัสดุในการประกอบฝ้าชายคามีความบางและสะท้อนความร้อนไม่ดีพอ ก็ต้องเพิ่มเติมในส่วนของฉนวนกันความร้อนเข้าไป

10. ประตู-หน้าต่าง
ประตู หน้าตาง ถือเป็นงานตกแต่งความสวยงาม และเป็นหน้าตาให้กับตัวบ้าน ดังนั้นการก่อสร้างจึงต้องออกแบบ ช่องเปิดต่างๆ เช่นหน้าต่าง ช่องแสง ช่องลม เพื่อให้บ้านดูน่าอยู่ ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ติดตั้งให้พอดีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
โดยการการเจาะช่อง ประตู หน้าต่าง ต้องคำนึงถึงการระบายอากาศ วิวที่ได้รับภายนอก การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายใน ถึงแม้โครงสร้างผนังบ้านจะมีความแข็งแรง และงานก่อสร้างอยู่ในฐานราคาที่ไม่แพงมาก แต่การเจาะช่องเปิดจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร ยังไม่รวมวัสดุประตู หน้าต่างที่จะตามมา
ดังนั้นเราจะเห็นว่าบ้านจัดสรรส่วนใหญ่มีช่องเปิดหน้าต่างไม่มาก แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับบ้านที่สร้างเองจะเห็นว่าบ้านที่ทำการสร้างเองส่วนใหญ่จะเลือกให้บ้านมีความโปร่งโล่งสบายจากมุมหน้าต่างที่เยอะพอสมควรของบ้าน

11. ฝ้าเพดาน
ฝ้าเพดานเป็นส่วนหนึ่งในงานตกแต่งบ้าน เป็นวัสดุที่ใช้ในการปิดพื้นบริเวณใต้หลังคาเพื่อไม่ให้เห็นโครงสร้างภายใน อาทิ งานระบบต่าง ๆ เช่น สายไฟ ท่อน้ำ และเพื่อป้องกันความร้อนใต้หลังคา
โดยวัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาทำฝ้าเพดานมีหลายชนิด แตกต่างกันไปทั้งฝ้าเพดานจากกระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าอะลูมิเนียม และฝ้ายิปซั่มบอร์ดที่เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการประกอบฝ้าเพดาน เนื่องจากทนไฟ สามารถฉาบปิดผิวเพื่อไม่ให้เห็นรอยต่อได้ และมีความสวยงามกว่าฝ้าเพดานชนิดอื่น ๆ

12. ผนัง
ผนังบ้านเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์โดยตรงเชื่อมโยงไปถึงความสวยงามทั้งภายนอกและภายใน รวมไปถึงการใช้งานด้านการกันแดด กันฝน กันลม กันความร้อน ดังนั้นเมื่อรู้จักกับผนังแล้วก็ต้องรู้จักที่จะเลือกวัสดุ รวมไปถึงขนาดระยะต่าง ๆ ที่ต้องเหมาะสมกับการใช้สอย
โดยทั่วไปผนังที่อยู่ภายนอกทั้งหมดผู้รับเหมาหรือวิศวกรจะเลือกใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทาน เพื่อป้องกันความร้อน แสงแดด และน้ำฝน ได้เต็มที่ โดยเฉพาะในบ้านเรา มีอากาศร้อน แดดแรง ผนังควรจะสามารถเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีอีกด้วย
ส่วนผนังภายใน อาจไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่แข็งแรงมาก เพราะเราอาจมีการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยได้ในภายหลัง ก็จะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่วัสดุที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ อิฐมอญ พร้อมฉนวนกันความร้อนโดยเฉพาะผนังด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้